สำหรับคนที่เริ่มต้นจะใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานหรือธุรกิจที่ให้บริการด้านที่อยู่อาศัย แต่การนำรายได้มาบริหารค่าครองชีพ (เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าอาหาร) ของตนเองนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ คุณจำเป็นต้องทราบถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนและวัตถุประสงค์ในค่าใช้จ่าย จากนี้ไปเราจะอธิบายถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของผู้ที่ใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวว่ามีอะไรบ้าง
Contents
ค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ผลการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นระบุว่าค่าใช้จ่ายในการบริโภค (หมายถึง เงินค่าครองชีพที่ใช้ในการยังชีพของบุคคลและครอบครัว) เฉลี่ยต่อเดือนสำหรับผู้ที่ดำรงชีพคนเดียว (อายุเฉลี่ย 58.5 ปี) ในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 150,000 เยน แต่ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นค่าเฉลี่ยจากการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าเช่าบ้านสูง (โดยเฉพาะกรุงโตเกียว) จะมีค่าครองชีพต่อเดือนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวเล็กน้อย และในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมในทุกปีจะมีรายการค่าใช้จ่ายมากที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง: รายงานผลการสำรวจครัวเรือน กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่น https://www.stat.go.jp/data/kakei/2020np/gaikyo/pdf/gk02.pdf
เรามาดูรายละเอียดของรายงานฉบับนี้กัน จะพบว่าเงินออมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40,000 เยน และผู้ที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียวแทบทุกคน รวมถึงคนญี่ปุ่น จะพยายามประหยัดค่าอาหาร, ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา และค่าแก๊สเพื่อนำเงินไปใช้เป็นค่าสันทนาการหรือนำไปออม
ค่าเช่าบ้าน ประมาณ 20,000 เยน
ค่าอาหาร ประมาณ 40,000 เยน
ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าแก๊ส ประมาณ 12,000 เยน
ค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ประมาณ 7,000 เยน
ค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าและของใช้ในชีวิตประจำวัน ประมาณ 5,000 เยน
ค่าเลี้ยงรับรองและค่าสันทนาการ ประมาณ 28,000 เยน
ค่ารักษาพยาบาล ประมาณ 7,000 เยน
อื่น ๆ ประมาณ 33,000 เยน
รวม ประมาณ 152,000 เยน
กว่า 40% ของค่าครองชีพต่อเดือนเป็นค่าเช่าบ้านและค่าอาหาร
จากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคดังกล่าว จะพบว่าค่าเช่าบ้านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 เยน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าเช่าบ้านจะแตกต่างอย่างมากขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ฉะนั้น ถ้าคุณเลือกพื้นที่ที่จะอาศัยหรือสถานที่ที่จะทำงานได้แล้ว ลองค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู จะเห็นค่าเช่าบ้านโดยประมาณได้ชัดเจนมากขึ้น
และจากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคดังกล่าวนี้ เราจะพบว่าค่าอาหารสำหรับครัวเรือนที่มีผู้อาศัยคนเดียวจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 เยน คนที่ทำอาหารเองจะซื้อวัตถุดิบอาหารจากร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีหลายคนที่ทำอาหารสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์และที่นำโอเบนโตะ (ข้าวกล่อง) ไปที่ทำงานด้วย ส่วนคนที่ไม่ถนัดในการทำอาหารเองจะซื้อโอเบนโตะที่ร้านสะดวกซื้อหรือไปรับประทานที่ร้านอาหารแฟรนไชส์
เคล็ดลับในการประหยัดค่าใช้จ่าย
การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนั้นมีค่าครองชีพที่สูงจนทำให้หลายคนรู้สึกกังวลที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว ดังนั้น เรามีเคล็ดลับในการประหยัดค่าใช้จ่ายมาบอก ค่าครองชีพสามารถแบ่งออกได้เป็น “ค่าใช้จ่ายผันแปร” ที่จะเปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือนและ “ค่าใช้จ่ายคงที่” ที่จะมีจำนวนแน่นอนในแต่ละเดือน ตัวอย่างค่าใช้จ่ายผันแปรได้แก่ ค่าอาหาร, ค่าเลี้ยงรับรอง, ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากตามสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ทำให้อาจไม่สะดวกแก่การประหยัด ส่วนค่าใช้จ่ายคงที่นั้นสามารถตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาบริการแต่ละสัญญาได้ ทำให้สะดวกในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีและยั่งยืนมากกว่า ตัวอย่างค่าใช้จ่ายคงที่ได้แก่ ค่าเช่าบ้านและค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งในครั้งนี้ เราจะแนะนำวิธีการประหยัดค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตให้คุณได้ทราบ
ตรวจสอบค่าบริการโทรศัพท์มือถือ
จากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคจะพบว่าค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อเดือนสำหรับผู้ที่ดำรงชีพคนเดียวอยู่ที่ประมาณ 7,000 เยน หรือเท่ากับ 84,000 เยนต่อปี ปัจจุบันเราสามารถสมัครบริการโทรศัพท์มือถือได้ในค่าบริการที่ถูกและมีคุณภาพสัญญาณที่ดีเยี่ยม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นรายงานผลการสำรวจค่าบริการโทรศัพท์มือถือในเมืองใหญ่ทั่วโลก 6 เมือง ซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว ณ เดือนมีนาคม 2021 พบว่าแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตมือถือ 20 กิกะไบต์ที่เป็นแพ็กเกจมือถือยอดนิยมมีค่าบริการอยู่ที่เดือนละประมาณ 3,000 เยนในโตเกียว ซึ่งมีค่าบริการที่ถูกรองลงมาจากลอนดอน
จากการที่สามารถใช้บริการสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบายแม้จะไม่ได้เป็นบริการของผู้ให้บริการรายใหญ่ ด้วยการตรวจสอบค่าบริการ จะช่วยให้สามารถประหยัดค่าครองชีพไปได้มากทีเดียว หากคุณเปลี่ยนไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ราคาถูกหรือซิมโทรศัพท์มือถือราคาประหยัด จะช่วยประหยัดค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตได้อีกเดือนละ 2,000 เยน ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพได้ถึงปีละ 24,000 เยน แพ็กเกจสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมีค่าบริการตามปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น ในการเลือกแพ็กเกจนั้น แนะนำให้ตรวจสอบปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ต 3 เดือนล่าสุดเพื่อจะได้ทราบว่าคุณจะต้องใช้อินเตอร์เน็ตในปริมาณกี่กิกะไบต์จึงจะพอ